การใช้และการบำรุงรักษาเกียร์อัตโนมัติ

คำแนะนำการดูแลและบำรุงรักษาเกียร์อัตโนมัติ

ระดับน้ำมันเกียร์

นอกเหนือจากน้ำมันสะอาด และใช้น้ำมันที่ถูกต้องตามSpec ที่กำหนดแล้ว ระดับของน้ำมันก็มีความสำคัญมาก ระดับที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดฟองตามมาแล้ว อาจทำให้เกิดการ Leak ในบริเวณ Seal ได้อีกด้วย และยังมีผลให้การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันในครั้งต่อไปไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายได้มากเป็นปกติ ทำให้มีน้ำมันเก่าตกค้างได้มาก หากมีน้ำมันน้อยเกินไปแน่นอนการทำงานจะไม่ถูกต้องและอาจสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณืภายในเกียร์ได้ และอีกประการที่น่าสนใจกรณีน้ำมันน้อยหรือต่ำเกินไป อะไรคือสาเหตุ เติมมาน้อยเกินไปแต่แรกหรือ มีรอยรั่ว Leak ที่ไหนหรือไม่ สิ่งนี้สำคัญมากๆครับต้องหาให้ได้ว่าอะไรคือสาเหตุทำให้น้ำมันต่ำ

วิธีขับรถเกียร์อัตโนมัติที่ถูกต้องตามหลักมีดังต่อไปนี้

1. ติด (สตาร์ท) เครื่องยนต์ในตำแหน่ง P เท่านั้น ซึ่งบางรุ่นก็ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะมีระบบปลอดภัย ที่ทำให้ผู้ขับสามารถดึงกุญแจออกได้ต่อเมื่อโยกคันเกียร์ไปยังตำแหน่ง P เท่านั้น ส่วนอีกหลายรุ่นหลาย “ยี่ห้อ” ยังสามารถติดเครื่องยนต์ในตำแหน่ง N ได้แต่ถ้าเราจอดในตำแหน่ง P ไว้ ก็ไม่ต้องมีอะไรให้ต้องระวังเป็นพิเศษอยู่แล้วครับ ติดเครื่องยนต์ได้เลย

2. เหยียบเบรกไว้เสมอ เมื่อจะเปลี่ยนจากตำแหน่ง P ไปยังตำแหน่งอื่น ข้อนี้ก็ทำนองเดียวกันกับข้อแรกคือมีรถหลายรุ่นที่ต้องเหยียบเบรก จึงจะเปลี่ยนจากตำแหน่ง P และ N ไปยังจังหวะอื่นได้

3. เปลี่ยนจากตำแหน่ง P หรือ N ไปยังตำแหน่งอื่นที่รอบเดินเบาของเครื่องยนต์เท่านั้น จะอ้างว่าไม่ได้เหยียบคันเร่งเลยก็ไม่ได้ เช่น เร่งเครื่องยนต์ถึง 4 หรือ 5 พันรอบต่อนาที พอถอนคันเร่งก็ใส่ตำแหน่ง P หรือ R ทันที แบบนี้มีสิทธิพัง

4. ต้องคอยให้เกียร์ทำงานในจังหวะ R หรือ D ก่อน จึงจะยกเท้าจากแป้นเบรกมาเหยียบคันเร่งเพื่อออกรถ โดยสังเกตได้จากการกระชาก (ในรูปของความสะท้าน เนื่องจากรถเคลื่อนไม่ได้เพราะเราเหยียบเบรกไว้) ช่วงเวลาตั้งแต่เข้าตำแหน่ง R หรือ D จนกระทั่ง “กระชาก” นี้ กินเวลาประมาณเกือบจะทันทีไปจนถึงเกือบ 2 วินาที แล้วแต่การออกแบบเกียร์

5. ห้ามออกรถอย่างรุนแรงโดยการเร่งเครื่องยนต์ไว้ ก่อนที่จะเข้าตำแหน่ง R หรือ D เด็ดขาด (ชิ้นส่วนภายในห้องเกียร์อาจพังพินาศ) ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามข้อ 3 และข้อ 4 ย่อมไม่กระทำอยู่แล้ว รถที่ใช้เกียร์ “ธรรมดา” สามารถออกอย่างรุนแรงได้ โดยที่ผู้ขับเร่งเครื่องยนต์อย่างแรง แล้วถอนคลัทช์อย่างเร็ว ให้ล้อหมุนฟรีโดยไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น นอกจากความสึกหรอเกินควรของผ้าคลัทช์และหน้ายางเท่านั้น แต่ผู้ใช้เกียร์อัตโนมัติไม่มีสิทธิที่ทำเช่นนี้ จากหลักการทำงานของชิ้นส่วนภายในห้องเกียร์ หากต้องการออกรถอย่างแรงที่สุดโดยไม่มีความเสียหาย ให้ใช้เท้าซ้ายเหยียบแป้นเบรกไว้อย่างแรง เท้าขวาเหยียบคันเร่งจนมิด คอยจนเข็มวัดความเร็วรอบอยู่นิ่ง (เรียกอย่างเป็นทางการว่า stall speed) แล้วจึงถอนเท้าซ้ายออกจากแป้นเบรกอย่างเร็วที่สุด ห้ามลองเบรกพร้อมกับเร่งเป็นเวลานาน เพราะน้ำมันเกียร์จะร้อนจัดและชิ้นส่วนในห้องเกียร์อาจชำรุดจากความร้อนได้ รถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ และมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ กำลังสูงเท่านั้นจึงจะมีแรงขับเคลื่อนสูง พอที่จะทำให้ล้อขับเคลื่อนหมุนฟรีขณะเร่งอย่างรุนแรงได้

6. ก่อนใส่เกียร์ตำแหน่ง P ต้องรอให้รถหยุดสนิทก่อน เพราะเป็นการลอคด้วยรูปทรงของกลไก ไม่ใช่อาศัยแรงเสียดทานเหมือนผ้าเบรกกับจากเบรก

7. เมื่อจอดรถต้องใส่เกียร์ในตำแหน่ง P เท่านั้น ควรขึ้นเบรกมือด้วย แม้ว่าตำแหน่ง P จะป้องกันรถไหลได้อยู่แล้วก็ตาม ยกเว้นกรณีจอดขวางทางผู้อื่นไว้ อนุโลมให้ใช้ตำแหน่ง N ได้ โดยต้องแน่ใจว่ารถจะไม่ไหลได้เอง ส่วนผู้ที่ใช้รถแบบถอดลูกกุญแจได้ในจังหวะ P เท่านั้น คงต้องหาที่จอดซึ่งไม่กีดขวางผู้อื่น (การใช้กุญแจสำรองเสียบคาไว้ ไม่ปลอดภัยพอด้านการโจรกรรมครับ แบบตัดด้ามแล้วผูกเชือกเสียบคาไว้ ก็ยุ่งยากและเสี่ยงเกินไป ไม่ขอแนะนำ)

8. ลงจากรถชั่วคราว (ขณะติดเครื่องยนต์หรือไม่ติด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) จะต้องเข้าเกียร์ในตำแหน่ง P เท่านั้น เช่น ลงมาเปิดหรือปิดประตูบ้าน ความผิดพลาดข้อนี้แหละครับ ที่อันตรายถึงชีวิต และเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ)

9. เมื่อต้องการออกรถในตำแหน่ง D ให้ดึงด้ามเกียร์ผ่านตำแหน่ง R และ N ได้เลย โดยไม่ต้องคอยให้จังหวะ R ทำงาน

10. ห้ามทดลองใส่เกียร์ต่ำที่ความเร็วสูงมาก เพราะเครื่องยนต์จะถูกความเร็วของล้อและเพลาขับ กระชากให้หมุนอย่างรุนแรง ล้อขับเครื่องอาจลอค ชิ้นส่วนภายในห้องเกียร์จะต้องรับภาระสูงเกิดพิกัด แม้เกียร์บางรุ่นจะมีระบบป้องกันปัญหานี้ ก็ไม่ควรทดลอง

11. กรณีที่ต้องปรับตั้ง หรือเร่งเครื่องยนต์อยู่นอกรถ ต้องใส่เกียร์ในตำแหน่ง P เท่านั้น แม้ว่าจะทำงานได้เช่นเดียวกันในตำแหน่ง N ก็ตาม และต้องห้ามผู้อื่นอยู่ในรถเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ช่างเครื่องเร่งเครื่องยนต์ ส่วนช่างวิทยุเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์เพื่อความสะดวก

12. หากต้องหยุดรถบนทางลาดชัน ให้ใช้เท้าเหยียบเบรกไว้ ห้ามใช้วิธีเร่งเครื่องยนต์ในตำแหน่ง D เพื่อพยุงรถไว้ (น้ำมันเกียร์และชิ้นส่วนในห้องเกียร์จะร้อนจัด และอาจชำรุดได้)

13. เมื่อต้องการขึ้นทางลาดชัน และรถมีกำลังไม่พอ ต้องเหยียบคันเร่งให้ลึกขึ้นอีก อาจต้องเหยียบจนถึงพื้นรถ มิฉะนั้นแรงขับเคลื่อนอาจไม่เพียงพอ

14. หากต้องหยุดรถเป็นเวลานาน เนื่องจากการจราจรติดขัด หรือด้วยเหตุใดก็ตาม ให้เปลี่ยนเกียร์มาในตำแหน่ง P เพื่อ
ก. พักกล้ามเนื้อขา จากการเหยียบเบรก
ข. พักการทำงานของหลอดไฟเบรก ซึ่งมิได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน (ทั้งหลอดไปและโคมไฟจะร้อนจัด)
ค. เพื่อปลดโหลดของเกียร์อัตโนมัติออกจากเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์หมุนเร็วขึ้น ช่วยให้ “แอร์” เย็นขึ้นได้พอสมควร เพราะคอมเพรสเซอร์หมุนเร็วขึ้น และยังประหยัดเชื้อเพลิงได้เล็กน้อยด้วย เพราะไม่มีโหลด (LOAD) จากเกียร์

15. ใช้เกียร์เดินหน้าจังหวะอื่นนอกเหนือจากตำแหน่ง D ขณะขับลงทางลาดชันเท่านั้น (เช่น 1 2 S L สุดแต่ผู้ผลิตจะเรียกตำแหน่งเหล่านี้) ขาขึ้นทางชันไม่ต้อง เพราะระบบจะเลือกจังหวะเกียร์เองโดยอัตโนมัติ (ดูข้อ 13)

16. การลากจูงรถเกียร์อัตโนมัติที่เครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องปฏิบัติตามวิธีที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ในคู่มือใช้รถ โดยมีการจำกัดทั้งระยะทางและความเร็วด้วย

สำหรับข้อ 14 ถ้าต้องหยุดรอแต่ไม่นานนัก อนุโลมให้เลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่ง D ไปอยู่ที่ตำแหน่ง N ได้ครับ พร้อมกับขึ้นเบรกจอดไว้ (ก็ “เบรกมือ” นั่นแหละครับสำหรับรถส่วนใหญ่ ที่ใช้คำนี้ไม่ได้ เพราะบางรุ่นเบรกจอดเป็นแบบใช้เท้าเหยียบ) ซึ่งสภาวะนี้ก็เทียบได้กับการปลดมาอยู่เกียร์ว่างของรถเกียร์ธรรมดานั่นเอง และพวกเราก็ปฏิบัติคือไม่ขึ้นเบรกจอด เพราะถือว่ารถ “ไม่ไหล” ที่ถูกแล้วควรใช้เบรกจอดเมื่อหยุดรถแล้วปลดเกียร์ว่างทุกครั้ง ใครที่ปฏิบัติจนเคยชินแล้ว จะเห็นประโยชน์และเข้าใจทันที เพราะเราทึกทักเอาเองว่ารถจะไม่ไหล ถ้าปฏิบัติถูกต้องประจำ นอกจากจะเข้าใจเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยัง “ติดเป็นนิสัย” ทำนองเดียวกับเข็ดขัดนิรภัยที่คาดประจำ ถ้าไม่คาดจะรู้สึก “หวิว” และไม่อยากขับเอาเลย

แต่วิธีปฏิบัติที่ผิดอย่างร้ายแรง คือการใส่เกียร์ในตำแหน่ง D แล้วขึ้นเบรกมือไว้ ซึ่งมีผู้อ่านสอบถามมาว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะเคยเห็นในบทความและฟังทางรายการวิทยุมา ห้ามทำเด็ดขาดเบรกจอดหรือเบรกมือนั้น ทำงานได้ผลไม่แน่นอน เพราะไม่ใช่กลไกแบบ “ลอค” หรือขัดกลอน หรือลงสลักกันหมุน กันเลื่อน แต่เป็นการทำงานโดยอาศัยแรงเสียดทานจากการกดวัตถุเข้าหากัน ลวดสลิงที่เป็นกลไกสำคัญนั้นคลายตัวได้ ตอนเริ่มอาจมีแรงพอ แต่อีกนาทีเดียวกลับไม่พอเสียแล้ว หรือตอนคลัทช์แม่เหล็กไฟฟ้าหน้าคอมเพรสเซอร์ปรับอากาศทำงานอยู่ อาจมีแรงเบรกพอ แต่พอ “แอร์” ตัดและเครื่องยนต์หมุนได้เร็วขึ้น ก็อาจจะไม่มีแรงเบรกพอเสียแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นคงไม่ต้องบอก